มุมมองด้านสังคมวัฒนธรรม
สังคมวัฒนธรรมของมอญในจังหวัดปัตตานี
#Stories
สาเหตุและปัจจัยในการทำงานเป็นแรงจูงใจให้แรงงานข้ามชาติเดินทางมาทำงานในจังหวัดปัตตานี สภาพความเป็นอยู่เป็นอย่างไร
สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเดินทางมาทำงานในจังหวัดปัตตานี หรือที่เรียกกันว่า คนลอดรัฐบริเวณด่านชายแดน สาเหตุหลัก 2 สาเหตุที่ดึงดูดแรงงานข้ามชาติมาในพื้นที่ คือ ปัจจัยความยากจนปัญหาเศรษฐกิจ และปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองของประเทศต้นทาง จากการสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติในปัตตานี เข้ามาทำงานเป็นแรงงานที่ปัตตานี เพราะเคยทำงานที่ระนอง และเถ้าแก่ที่ทำประมงอยู่ระนองให้มาที่ปัตตานี ก็ล่องเรือมา ถ้าเราอยู่บ้านก็ไม่มีงาน ยังไงมาถึงปัตตานีตอนไหนก็มีงานรออยู่แล้ว มาอยู่กับเถ้าแก่ที่ปัตตานี เขาใจดี เขาจะพาเราและเมียและลูกของผมไปเที่ยวด้วยกัน ผมเคยไปล่องแก่งที่สตูล เคยไปเที่ยวที่น้ำตกปาโจ นราธิวาสด้วย ผมมาจากกัมพูชา มาปัตตานีประมาณ 10 ปีแล้ว ตอนนั้นผมยังไม่ได้แต่งงานยังไม่มีลูก ผมมาแบบผิดกฎหมายต้องอยู่แบบหลบตำรวจ แต่เมื่อ 8 ปีที่แล้วผมได้ขึ้นทะเบียนมีนายจ้าง จากนั้นได้แต่งงาน ตอนนี้ลูกผมอายุ 7 ปี เรียนที่ศูนย์ Stella ตอนแรกที่เข้ามาอยู่มีงานมีเงินแต่ต้องหนีตลอด แต่ตอนนี้มาทำอะไรแบบที่กฎหมายจะเอา เราก็สบายใจ ตอนนี้มีเงินน้อยลงแต่สบายใจหน่อยไม่ต้องหนีตำรวจ ดีที่เถ้าแก่เขาใจดี เวลาไปเที่ยวก็จะให้ผมพาครอบครัวไปด้วยเราก็ได้ไปเที่ยวกันทั้งครอบครัว เรามาทำงานที่นี่เราอยากได้เงิน ทำทุกอย่างที่เถ้าแก่ให้ทำ เขาจะได้รักเรารักครอบครัวเราด้วยแม้เราจะมีเงินน้อยลงในตอนนี้แต่ยังดีกว่าการกลับที่บ้านแล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไร เราลำบากที่นี่ไม่เป็นไร เราอยู่แบบนี้ไม่เป็นไรเราทนได้ ขอให้ลูกเมียได้มีกิน (ไก่,ชาย,34,เขมร,พุทธ,แรงงานเสมียนสะพานปลา)
กระบวนการเข้ามา สถานการณ์การทำงาน สภาพการอาศัย การดำเนินชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในปัตตานี
แรงงานข้ามชาติ พม่า กัมพูชา ลาว จากการวิจัยพบว่าจำนวนแรงงานพม่ามีจำนวนสูงสุด รองลงมาคือกัมพูชาและลาวตามลำดับ
แรงงานข้ามชาติมีรูปแบบกระบวนการเข้ามาทำงานในจังหวัดปัตตานี ด้วยวิธีการเข้ามาทำงานที่หลากหลาย จากการสัมภาษณ์ อดีตแรงงานข้ามชาติหญิงในจังหวัดปัตตานีเล่าว่า เมื่อมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ที่ปัตตานี เมื่อกลับบ้านเกิดก็จะมีการชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนๆ และคนในหมู่บ้านมาทำงานที่ปัตตานี อยู่กันเยอะมีอะไรจะได้ช่วยเหลือกันได้ (ทองหยิบ,หญิง,42,เขมร,พุทธ,แม่บ้าน)
แรงงานข้ามชาติผู้ชายที่ได้แต่งงานกับคนไทยเล่าว่า ผมมาอยู่ในเมืองไทยประมาณ 20 ปี อยู่ระนอง 10 ปี และปัตตานี 10 ปี แต่งงานกับคนจังหวัดสงขลาซึ่งมาทำงานที่ปัตตานี แล้วมีลูกด้วยกัน 3 คน ลูกคนแรกกับคนที่สอง เรียนที่โรงเรียนเมือง คนโตอยู่ ป. 2 คนที่2 เรียนอยู่อนุบาล 2 แฟนผมรับเหมาทำเรือ ส่วนผมซ่อมเรือผมคงอยู่ที่นี่ต่อไปเพราะที่นี่มีงานให้ผมทำ ผมมีครอบครัวที่นี่และมีลูกด้วยกัน (ปาล์ม,ชาย,38,มอญ,พุทธ,ช่างซ่อมเรือ)
เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติในจังหวัดปัตตานี เล่าว่า แรงงานกลุ่มนี้เขาจะเข้ามากันเป็นกลุ่มๆชักชวนกันมา หรือมีญาติมีพี่มีน้องมาอยู่ที่ปัตตานีแล้ว ที่ไหนมีงานเขาก็จะไปที่นั่น แต่บางคนก็มากับนายหน้า พามาเป็นแรงงานที่ปัตตานี บางคนทำงานประมง บางคนก่อสร้าง บางคนก็ทำงานในโรงงานอาหารทะเลกระป๋อง เขาจะขยันทำทุกอย่างที่นายจ้างสั่งให้ทำจะอันตรายแค่ไหนเขาก็ทำหมด แรงงานกลุ่มนี้น่าสงสารไม่รู้สิทธิ์ ไม่รู้หนังสือ(โกโก้,หญิง,52,ไทย,พุทธ,รักษ์ไทย)
จากการสัมภาษณ์คนไทยในพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์ พวกนี้ขยัน ทำงานได้เงิน แต่ชอบกินแหล้า ชอบเล่นไผ่ บางคนไม่ดูแลลูกปล่อยให้ลูกแต่งตัวมอมแมม ถ้าลูกเขาจะเข้ามาในบ้านของพี่ พี่จะให้เขากลับไปอาบน้ำให้สะอาดก่อน เพราะอยากสอนให้เขารักความสะอาด บางทีก็สงสารลูกเขาเหมือนกัน ตัวเล็กและผอมกว่าคนอื่นๆ(ข้าวพอง,หญิง,43,ไทย,อิสลาม,แม่บ้าน)
สภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดปัตตานี ปัจจุบันมีการทำงานประเภท ๓ D รายได้ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอกินพอใช้ บางรายเหลือเก็บและสามารถส่งเงินไปสร้างบ้าน กรณีของทองม้วนเล่าว่า สามีทำประมงมาอยู่ที่ปัตตานี 10 ปีแล้ว แต่เข้ามาอยู่ประเทศไทยประมาณ 14 ปี เดือน 10 ปีนี้เราจะกลับไปบ้านของเราแล้ว เพราะส่งเงินไปสร้างบ้านเสร็จแล้ว จะพาลูกกลับบ้านให้หมด ส่วนผัวก็จะกลับไปทำสวน เพราะมีที่ดินทำสวนได้ (ทองม้วน,หญิง,45,มอญ,พุทธ,แม่บ้าน)
ผมมาอยู่ที่นี่ประมาณ 10 กว่าปี มาเป็นลูกจ้างเถ้าแก่คานเรือแถวสะพานปลา เมียผมเป็นเสมียนให้กับเถ้าแก่คนเดียวกับผม เราอยู่บ้านของเถ้าแก่ ลูกเรียนที่โรงเรียนเมือง ที่ผมบอกว่าอยากกลับบ้านแต่ยังกลับไม่ได้เพราะลูกชายคนเล็กของผมยังอยากเรียน อยากเรียนให้จบสูงๆ ตอนนี้ผมซื้อรถยนต์ฟอร์ดสีส้มหนึ่งคัน ไม่รู้ว่าจะผ่อนได้นานกี่เดือน ใจผมจะกลับบ้านแล้ว แต่ลูกบอกว่าจะไม่กลับถ้าเรียนยังไม่จบ เขาอยากเรียนให้จบสูงๆให้มีงานทำก่อนแล้วพ่อกับแม่ค่อยกับบ้าน ผมก็รอเขานี่และ (นกกระจอกเทศ,ชาย,53,มอญ,พุทธ,แรงงานคานเรือจรูญชุมชนใต้สะพาน)
สัมภาษณ์คนมอญที่มาอยู่ที่ปัตตานี เธอบอกว่าพวกเรามาจากเมาะละแหม่ง ตั้งแต่สาวๆ เธอมีลูก 3 คน ชาย 2 คน หญิง 1 คน ลูกคนที่หนึ่งอายุ 19 ปีและ คนที่สองอายุ 18 ปี ทำงานไปหมดแล้ว ลูกชายมาอยู่เมืองไทยได้ 2 ปี พูดภาษาไทยได้บ้าง เหลือลูกคนเล็กที่เป็นผู้หญิงอายุ 8 ปี ที่เรียนหนังสือที่ศูนย์การเรียนรู้แหลมนก ตอนนี้ก็พาพ่อมาอยู่ด้วย ถ้าต้องไปคัดปลาที่สะพานปลา ก็ต้องให้สามีเฝ้าเพราะพ่อก็แก่มากแล้ว แต่ก่อนเช่าห้องแถวอยู่ข้างในชุมชนบ้านยูโย ราคาบ้านเช้าเดือนละ 2,200 บาท ตอนนี้ เช่าบ้านของเถ้าแก่ราคาเดือนละ 3,000 ค่าไฟและน้ำรวมพันกว่าบาท มีดาวเทียมใช้ มีช่องพม่าด้วย แต่ไม่ค่อยได้ดู เพราะต้องไปทำงาน (วุ้น,หญิง,50,มอญ,พุทธ,แรงงานคัดปลา) วุ้นเล่าให้ฟังถึงช่องทางการสื่อสารที่ใช้ เมื่อก่อนไม่มีโทรศัพท์ ใช้วิธีเขียนจดหมายส่งไปที่บ้าน ต่อมาใช้โทรศัพท์คิดราคา นาทีละ 20 บาท ต่อมา ใช้โทรศัพท์มือถือ มีซิมการ์ดที่โทรต่างประเทศได้ ตอนนี้การติดต่อสื่อสารสะดวกถ้าอยากโทรกลับไปหาคนที่บ้านเกิดก็ซื้อซิมดีแทค 50 บาท (ขณะที่สัมภาษณ์เราพบกับคนขายซิมที่กำลังพูดคุยกับคนอื่นๆ)
แม่ของผมทำอาชีพผ่าปลาหมึกหลังโรงไม้ พ่อมีอาชีพออกเรือ มีพี่น้อง 2 คน เวลาว่างเล่นกีตาร์ และชนไก่ ไม่ติดยาเสพติด แต่ผมสูบบุหรี่ น้องสาวเรียนที่โรงเรียนบ้านยูโย อยู่ ป. 5 ตอนนี้ผมได้งานเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ และประกอบรถยนต์ เงินเดือนละ 8,000 บาท ทำมาแล้ว 4 เดือน ผมสักยันต์มีอาจารย์ที่เคารพอยู่วัดเจ้าพ่อเสือในเมืองปัตตานี ผมเป็นคนสายบุญ ตามทวด เพราะทวดเป็นอำมาตย์ของมอญ ชอบทำบุญ นับถือครูบาอาจารย์ที่สักยันต์ งานบุญเช่น ทอดกฐิน ขึ้นพระ จัดที่วัดแหลมนก แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาจัดที่บริเวณชุมชนใต้สะพานปลา ผมเคยหามเจ้าแม่ลุยไฟ (สิงห์,ชาย,18,มอญ,พุทธ,เยาวชน)
(ไข่เต่า,หญิง,17,มอญ,พุทธ,แม่บ้าน) ชาวมอญ มาอยู่ที่ปัตตานีตั้งแต่อายุ 11 ปี คนที่พาเธอมาเป็นน้าสาว ตอนเธออายุ 17 ปี เธอรับจ้างดูแลคนแก่ เขาให้เงินเดือนๆละ 11,000 บาท อยู่กับเขาตลอดทั้งวัน ค่ากินอาหารกับเขา เขาซื้อเสื้อผ้าให้เรา ตอนอยู่กับเขามีความสุขดี เมื่ออายุ 18 ปี ฟ้าตกลงแต่งงานกับสามีที่มีอาชีพเป็นไต๋เรือระดับ 2 ได้เงินเดือนๆละ 15,000 บาท พอแต่งงานสามีให้ลาออกจากการดูแล เพราะไม่มีเวลาอยู่ด้วยกัน ตอนจะออกจากงานก็เสียดายเงิน แต่สามีให้ออกจึงลาออก เธอแต่งงานมีลูก 1 คน แต่ลูกเสียชีวิตเมื่อ 2 เดือนที่แล้วอายุได้ปีกว่า ตอนนี้ฟ้ายังเสียใจและรู้สึกคิดถึงลูกอย่างมาก และอยากมีลูกจะได้ไม่เหงา เวลาที่สามีไปออกเรือ เราก็ไม่มีอะไรทำ บางครั้งก็ออกไปคุยกับเพื่อนๆรอบ
องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ (กาแฟ,ชาย,32,ไทย,อิสลาม,stella maris)มีการทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง เพราะการจ้างงานของนายจ้างมีระยะเวลา บางคนย้ายถิ่นฐานไปหางานทำที่อื่นติดต่อยาก ก็พาลูกออกไปจากศูนย์เราเลย แต่กลุ่มพวกนี้น่าสงสารบางรายมากับนายจ้าง เช่าบ้านนายจ้าง เมียของเถ้าแก่เปิดร้านขายของชำ มีเหล้าขาย ก็ไปกินไปซื้อเงินเดือนออกก็หักหนี้ บางครั้งก็ไม่มีเงินเหลือกลับบ้านก็มี
จากการลงพื้นที่จะเห็นได้ว่าแรงงานข้ามชาติมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก ไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ อาศัยกันเป็นกลุ่มๆ ที่อาศัยคับแคบ แออัด ทำให้การจัดการกับความสะอาดไม่ดีนัก การอยู่เป็นกลุ่มของแรงงานเนื่องจากพูดภาษาไทยไม่ชัดจึงเลือกที่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน แต่การอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ทำให้คนในชุมชนเกิดความหวาดกลัวเพราะแรงงานข้ามชาติชอบกินเหล้า ชอบส่งเสียงดังเวลาไม่ได้ออกเรือ(เสาวรส,หญิง,45,ไทย,อิสลาม,เจ้าของบ้านเช่า)
สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ในด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมอย่างไร
ความจริงที่ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติที่หลั่งไหลมายังประเทศไทยนั้น มิใช่การหลบหนีจากความยากจนข้นแค้นและเศรษฐกิจของประเทศต้นทางที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควรเพียงอย่างเดียว บวกรวมกับการหลบหนีปัจจัยความไม่สงบจากการเมืองการปกครองซึ่งถือเป็นปัจจัยผลัก Push Factor ของประเทศต้นทางอีกด้วย เช่น การว่างงาน ความยากจน ส่วนปัจจัยดึงดูด Pull Factor คือการเข้า ออกตามชายแดนอย่างง่าย การควบคุมชายแดนไม่ทั่วถึงนัก จึงทำให้เกิดการชักชวนครอบครัวของแรงงาน เครือญาติและคนรู้จักอพยพเข้ามาทำงานหรือบางคนแต่งงานกับคนไทยและตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
การเข้ามาของแรงงานในแง่เศรษฐกิจหากมองเชิงบวกเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่วยเร่งระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศปลายทาง หากมองในเชิงลบ เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม ปัญหาทางสุขอนามัย แต่ในส่วนนี้จะพูดถึงสังคมวัฒนธรรม
พวกแรงงานถูกมองเป็นแรงงานราคาถูก ต้องทำงานหนักอย่างไม่มีทางเลือกแล้วยังโดนทั้งนายจ้างเอาเปรียบและดูถูก สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีแบบไม่มีเอกสารพวกเขาจะเก็บตัวไม่ปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะ เช่น ตลาด วัด หรือมหกรรมต่างๆในจังหวัด แรงงานที่ผิดกฎหมายเลือกที่จะอยู่แบบไร้ตัวตน มีอยู่แต่ทำให้มองไม่เห็น
กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม แรงงานข้ามชาติมีการยึดถือศาสนาวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัด ผ่านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ทำบุญ ตักรบาตร การแต่งกายที่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์มอญ พม่าไว้อย่างลงตัว กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติ
ผมสักยันต์มีอาจารย์ที่เคารพอยู่วัดเจ้าพ่อเสือในเมืองปัตตานี ผมเป็นคนสายบุญ ตามทวด เพราะทวดเป็นอำมาตย์ของมอญ ชอบทำบุญ นับถือครูบาอาจารย์ที่สักยันต์ งานบุญเช่น ทอดกฐิน ขึ้นพระ จัดที่วัดแหลมนก แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาจัดที่บริเวณชุมชนใต้สะพานปลา ผมเคยหามเจ้าแม่ลุยไฟ (สิงห์,ชาย,18,มอญ,พุทธ,เยาวชน)
ตักบาตรเทโว กิจกรรมประจำปีของคนมอญ ซึ่งเป็นความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก ในปีพ.ศ. ๒๕๖๑ จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน มีการนิมนตร์พระ จากวัดตานีสโมสร วัดนิกรชนาราม(วัดหัวตลาด) และวัดอื่นๆใกล้เคียง มีการทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และบริจาคเงินให้กับวัด
กิจกรรมวันชาติมอญ จะจัดขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งชาวมอญจะแต่งตัวสวยงาม ด้วยเสื้อผ้าทอสีแดง เสื้อสีขาว มีการจัดงานแสดงรำในแบบฉบับของคนมอญ
ละหมาดที่มัสยิด แรงงานข้ามชาติที่เป็นมุสลิมนิยมไปทำกิจกรรมทางศาสนาที่มัสยิดในช่วงเทศกาล ฮารีรายอ (งานเฉลิมฉลองหลังถือศีลอดในเดือนรอมฎอน)ของทุกปี
ตักบาตร สำหรับแรงงานข้ามชาตินิยมทำบุตรตักบาตรเป็นอย่างมาก เป็นการเสริมริมงคลให้กับชีวิต และเชื่อว่าการทำบุญจะทำให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งดีๆ ในจังหวัดปัตตานีจะมีพระจากประเทศพม่า มาอยู่ที่วัดแหลมนกจำนวน ๒ รูป